จากที่เคยเขียนบทความสายตาขี้เกียจลงเพจของร้าน และได้รับการความสนใจเป็นอย่างมาก ทำให้เห็นได้ว่าภาวะสายตาขี้เกียจ เริ่มเป็นที่เข้าใจและได้รับความตื่นตัวมากขึ้น วันนี้แอดมินจึงตั้งใจรวบรวมข้อมูลเกียวกับปัญหาสายตาขี้เกียจมาพูดกันเพิ่มเติมกันค่ะ
สายตาขี้เกียจ (Lazy eye) หรือศัพท์ในทางการแพทย์เราจะเรียกว่า แอมไบลโอเปีย (Amblyopia) เป็นปัญหาสายตาที่เกิดจากพัฒนาการทางการเห็นถูกชะงักหรือรบกวนด้วยปัจจัยต่าง ๆ อาจเป็นภาวะตาเหล่ ตาเข ปัญหาค่าสายตา หรือโรคตา ความผิดปกติเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการพัฒนาการการมองเห็นได้และเกิดสายตาขี้เกียจตามมา ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งในตาข้างเดียวหรือทั้งสองตาก็ได้ ขึ้นกับสาเหตุค่ะ
ก่อนอื่นอยากให้ทุกคนมาทำเข้าใจในเรื่องพัฒนาการทางการมองเห็นของคนเรากันค่ะ เนื่องจากว่า ดวงตาคนเรานั้นมีการพัฒนาตั้งแต่เราอยู่ในครรภ์มารดา จนลืมตามาดูโลกภายนอกแล้ว ดวงตาและระบบการมองเห็นจะยังไม่สมบูรณ์ และมีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งล่วงเข้าวัย 6-8 ขวบ พัฒนาการของดวงตาและการมองเห็นจึงจะสมบูรณ์เต็มที่ และในระหว่างช่วงวัยก่อน 8 ขวบนี้ หากมีความผิดปกติที่ไปรบกวน ไม่ได้การกระตุ้นที่เพียงพอแล้ว สมองของคนเราจะเริ่มมีการปรับตัว เพิกเฉยต่อต่อตาข้างนั้น จนเกิดเป็นปัญหาสายตาขี้เกียจ
อุบัติการณ์การเกิดสายตาขี้เกียจในเด็กวัยก่อน 8 ขวบนั้น พบได้ประมาณ 2-4% อาจจะดูเป็นตัวเลขที่ไม่มาก แต่การรักษาถือว่ายากและต้องมีการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว อีกทั้งหากไม่ได้รับการรักษาให้ทันและถูกต้อง ก็ย่อมมีผลต่อการมองเห็นไปตลอดชีวิต
สำหรับประเภทของสายตาขี้เกียจ แบ่งตามสาเหตุการเกิดได้ดังนี้
- ตาเหล่ ตาเข (Strabismic amblyopia) เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด เมื่อมีตาข้างใดข้างหนึ่งเกิดการเข เหล่ อาจจะตาเขเข้า, ตาเขออกหรือ ตาเขในแนวตั้ง สูงต่ำไม่เท่ากัน การทำงานของดวงตาทำงานไม่สัมพันหรือมองไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลต่อการประมวลผลภาพในสมอง ที่จะเกิดความสับสน และเกิดเป็นภาพซ้อนขึ้น ในเด็กการปรับตัวของสมองต่อภาพซ้อนนั้นคือการตัดสัญญาณภาพจากตาข้างที่เข เกิดเป็นตาขี้เกียจตามมา
- ค่าสายตาสองข้างไม่เท่ากัน (Anisometropia amblypia) เป็นประเภทที่พบได้บ่อยรองลงมาจากกรณีตาเหล่ตาเข ในสภาวะปกติคนเราจะมองด้วยตา แต่ในกรณีที่ค่าสายตาสองข้างต่างกันมาก ๆ แล้วไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นค่าสายตายาว สายตาสั้นหรือสายตาเอียง การมองภาพจากตาข้างที่แย่กว่า ภาพที่เห็นจะไม่ชัด และสมองไม่ได้รับการกระตุ้นจากภาพในตาข้างนั้น และนั่นก็คือผลกระทบที่ให้เกิดสายตาขี้เกียจตามมา
- ค่าสายตามากทั้งสองข้าง (Isometropic amblyopia) หากปริมาณค่าสายตาทั้งสองตามากทั้งคู่ การมองเห็นก็ย่อมไม่ชัดทั้งสองตา สาเหตุนี้เป็นประเภทที่ทำให้เกิดสายตาขี้เกียจทั้งสองตาได้ เนื่องจากสมองไม่ได้รับการกระตุ้นที่เพียงพอจากทั้งสองตานั่นเอง
ประเภทค่าสายตา | ค่าสายตาสองข้างต่างกัน (diopter) | ค่าสายตามากทั้งสองตา
(diopter) |
สายตายาว | >+1.00 | >+5.00 |
สายตาสั้น | >-3.00 | >-8.00 |
สายตาเอียง | >-1.50 | >-2.50 |
*อ้างอิงจาก American Optometric Association (AOA)
4. โรคทางตาที่บดบังการมองเห็นเป็นระยะเวลานาน (Deprivative amblyopia) โรคดังกล่าวที่ว่า เช่น ต้อกระจกแต่กำเนิด หนังตาตกจนบดบังทางเดินที่เข้าตา เป็นต้น ในประเภทนี้พบได้ไม่บ่อยมาก แต่เป็นประเภทที่รุนแรงและรักษายากที่สุด เพราะในบางเคสอาจเป็นตั้งแต่กำเนิด ทำให้สมองไม่ได้รับการกระตุ้นเลย
ในบางตำราอาจมีอีกประเภท คือ Occlusion amblypia คือเกิดจากการรักษาตาขี้เกียจด้วยการปิดตาที่นานเกินไป จนอาจมีผลต่อตาข้างที่ดีที่ปิดไว้ แต่สามารถกลับมาเป็นปกติได้
แนวทางในการรักษา ในปัจจุบันมีวิธีการคือ
- แว่นสายตา การจ่ายแว่นสายตาแบบเต็มในกรณีที่มีปัญหาค่าสายตาไม่ว่าจะสั้น ยาว เอียง จะช่วยกระตุ้นให้ตาข้างที่แย่ หรืออาจจะทั้งสองตา กรณีที่มีค่าสายตามาก ได้รับการกระตุ้นมากขึ้นและต้องมีการติดตามอาการเรื่อย ๆ เพื่อประเมินผลความสามารถในการมองเห็น (Visual Acuity)
- ปิดตา เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาตาขี้เกียจ วิธีคือการปิดตาในข้างที่ดี เพื่อกระตุ้นให้ตาข้างแย่กว่า หรือตาข้างที่ขี้เกียจได้ทำงาน ขณะที่ปิดตานั้น ต้องมีการทำกิจกรรมการใช้สายตาในการมองใกล้ร่วมด้วย จึงจะได้ผลดี และระยะเวลาในการปิดตาเพื่อการรักษานั้น จะไม่ได้ปิดไว้ตลอด แต่จะต้องประเมินจากอายุ ความรุนแรง VA ของเด็กร่วมด้วย เพื่อไม่ให้เกิด Occlusion Amblyopia ตามมาได้ ดังนั้น ควรมีการปรึกษาจากจักษุแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ และติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง
- หยอดยา Atropine หรือยาขยายม่านตา เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาในเด็กเล็ก เพื่อให้ตาข้างที่หยอดมองไม่ชัด ใช้หยอดตาข้างที่ดี หลักการคล้ายกับการปิดตา เพื่อกระตุ้นตาข้างขี้เกียจให้ทำงาน วิธีนี้จะใช้สำหรับเด็กเล็กที่ไม่ให้ความร่วมมือในการปิดตา
ช่วงวัยก่อน 8 ขวบถือได้ว่าเป็นนาทีทอง ผลการรักษามีแนวโน้มในทางที่ดี ดังนั้น การรักษาในผู้ป่วยสายตาขี้เกียจนี้ สำคัญอย่างยิ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งตัวผู้ป่วยหรือตัวเด็ก ผู้ปกครอง ในการทำความเข้าใจในปัญหาและให้ความร่วมมือ ร่วมกับการทำงานของจักษุแพทย์ นักทัศนมาตร และบุคลากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เมื่อล่วงวัย 8 ขวบ ไปแล้ว ผลของการรักษาก็จะลดน้อยลง แต่ในบางงานวิจัยก็พบว่าในบางกรณีการรักษายังประสบความสำเร็จได้ในกลุ่มผู้ป่วยวัย 13-17 ปี ดังนั้น ถือเป็นเรื่องดีในการตื่นตัวการตรวจสายตา คัดกรองโรคตาตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อผลประโยชน์ในด้านสุขภาพตาและการมองเห็นที่ดี
Leave a Comment