โรคเบาหวานขึ้นตา คืออะไร

ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคเบาหวานกันเพิ่มมากขึ้น โรคเบาหวานถือว่าเป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคเบาหวานกันให้มากขึ้นกันค่ะ โดยเฉพาะโรคเบาหวานที่มีผลต่อดวงตาและการมองเห็น

โรคเบาหวานนั้น คือโรคที่เกิดจากความบกพร่องของฮอร์โมนที่ชื่อว่าอินซูลิน ซึ่งถูกสร้างขึ้นจากกลุ่มเซลล์ในตับอ่อน มีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ในกลุ่มคนที่เป็นเบาหวาน เมื่อเจาะเลือดตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากที่อดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (Fasting plasma glucose) จะพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

การตรวจวัดน้ำตาลในเลือด (Fasting plasma glucose หรือ fasting blood sugar) เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการวินิจฉัยโรคเบาหวาน

ประเภทของโรคเบาหวาน สามารถจำแนกได้ 4 ประเภท ดังนี้

  1. เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากการที่เซลล์ตับอ่อนถูกทำลาย ทำให้ร่างกายขาดอินซูลิน มักจะพบในเด็ก
  2. เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูง มักพบในผู้ใหญ่ หรือในบุคคลที่มีน้ำหนักเกิน เป็นเบาหวานประเภทที่พบบ่อยสุด
  3. เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ สามารถเกิดได้ทุกระยะการตั้งครรภ์ แต่มักเกิดช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์
  4. โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ เช่น โรคของตับอ่อน โรคทางต่อมไร้ท่อ ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น

 

สิ่งที่น่ากังวลในผู้ที่มีภาวะเบาหวานคือภาวะแทรกซ้อนจากโรค เพราะหากผู้ป่วยไม่ควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้หลายระบบของร่างกาย ทั้งแต่ระบบหลอดเลือดและหัวใจ ระบบประสาท ช่องปากและฟัน ไต และดวงตา

 

ภาวะแทรกซ้อนทางตาจากโรคเบาหวานนั้น แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1. Non-retinal complication

พบได้ตั้งแต่อวัยวะส่วนหน้าของตาไปจนถึงด้านหลังของตา โดยไม่นับรวมจอประสาทตา

  • กระจกตา ความสามารถในการรับรู้จะลดน้อยลง อาจจะเกิดแผลถลอกที่กระจกตาได้ โดยเฉพาะในคนที่สวมใส่คอนแทคเลนส์ ดังนั้นในผู้ป่ายเบาหวานจึงไม่เหมาะสมที่จะสวมใส่คอนแทคเลนส์
  • ม่านตา อาจจะมีการเกิดเส้นเลือดงอกใหม่ที่ม่านตา ซึ่งเส้นเลือดที่สร้างใหม่นี้จะมีลักษณะเปราะ ไม่แข็งแรง หากเกิดเส้นเลือดแตกและไปอุดตันทางเดินระบายน้ำในลูกตา ส่งผลให้เกิดต้อหินได้
  • เลนส์ตา ในกลุ่มคนที่เป็นโรคเบาหวานแล้วมีการเพิ่มหรือลดของระดับน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้ค่าสายตาเปลี่ยนแปลงได้มาก แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะจะสามารถกลับมาสู่ปกติได้ หากมีการควบคุมน้ำตาลดีแล้ว อีกทั้งในผู้ป่วยเบาหวานจะมีโอกาสเกิดต้อกระจกได้มากกว่าคนปกติ 2-4 เท่า
  • เส้นประสาทตา มีโอกาสเกิดต้อหินมุมเปิดได้และลานสายตาจะเสียลงเร็ว เป็นต้น
ผลของภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่ไม่ได้เกิดที่จอตา

2. retinal complication

ในกรณีที่เป็นโรคเบาหวานเป็นระยะเวลานาน ๆ หากไม่ดูแลและให้ความสำคัญเรื่องการควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี มีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนเกิดการเปลี่ยนแปลงของจอตา ที่เรียกว่า Diabetic retinopathy (DR) ซึ่งจอตาจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่มีการโป่งพองของผนังเส้นเลือดฝอยในจอตา (microaneurysm), ผนังเส้นเลือดอ่อนแอ ทำให้สารน้ำหรือไขมันรั่วซึม (hard exudate), เกิดการอุดตันของเส้นเลือดฝอยทำให้ชั้นใยประสาทขาดเลือด (cotton wool spot), จุดรับภาพชัดบวม (Macular edema) หรือขั้นรุนแรงเกิดเส้นเลือดงอกใหม่ (Neovascularization) ซึ่งเป็นเส้นเลือดที่เปราะแตกง่าย ทำให้เกิดเลือดออกในวุ้นตา หรือเมื่อหลอดเลือดใหม่นี้ฝ่อลงไป ก็จะถูกแทนที่ด้วยพังผืดไปดึงรั้งจอตา เกิดเป็นจอตาหลุดลอกตามมาได้ เบาหวานขึ้นจอตานี้ถือเป็นอีกสาเหตุสำคัญของการเกิดตาบอดในปัจจุบัน

ผลของภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่เกิดที่จอตา

ข้อควรปฏิบัติในการดูแลดวงตาสำหรับผู้ที่มีภาวะเบาหวาน

  1. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี ควบคุมเรื่องอาหาร เพิ่มการออกกำลังกายและทานยาตามที่แพทย์จ่ายอย่างเคร่งครัด
  2. ต้องควบคุมความดันโลหิตและระดับไขมันในเลือดให้ดีร่วมด้วย
  3. หลีกเลี่ยงการสวมใส่คอนแทคเลนส์
  4. ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี หรือบ่อยตามที่หมอนัด
  5. หากเกิดอาการผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น เช่น ตามัวลง เห็นเงาดำลอยไปมาในตา ควรรีบพบจักษุแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและรักษา

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top